วันอาทิตย์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2555

การทำนาเป็ด

การทำนาเป็ด 

            เป็นการทำนาวิธีใหม่ที่ใช้เป็ดมาช่วยทำนา เดิมทีมีผู้ประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดฝูงขนาดใหญ่จำนวนมากได้เลี้ยงเป็ดแบบลดต้นทุนการผลิต หรือเรียกว่า “ เป็ดทุ่ง “ โดยการปล่อยฝูงเป็ดตั้งแต่ขนาดยังเล็กจากท้องทุ่งแถวจังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท ให้ฝูงเป็ดเหล่านั้น เก็บกินข้าวเปลือก กุ้ง หอย ปู ปลาในท้องนาที่เก็บเกี่ยวข้าวแล้วเป็นอาหาร และเดินทางแบบค่ำไหนนอนนั่นเรื่อยมา เป็นแรมเดือน จนถึงจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหรือปทุมธานี ฝูงเป็ดที่เลี้ยงจะโตมีขนาดพอดีกับการจับจำหน่าย หรือนำไปเลี้ยงต่อ การเลี้ยงเป็ดวิธีนี้ทำกันมาหลายปีจวบจนความเจริญของบ้านเมืองเกิดขึ้น มีการก่อสร้างตึกอาคารบ้านเรือนและถนนเป็นจำนวนมาก ไม่สะดวกกับการเดินทางเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดเหมือนเช่นแต่ก่อน ประกอบกับการทำนาในระยะหลังนี้ไม่มีมีฤดูกาลเหมือนเช่นแต่ก่อน ที่ส่วนใหญ่ตลอดเส้นทางการเคลื่อนย้ายฝูงเป็ดจะปลูกข้าวปีละ 1 ครั้ง ตามธรรมชาติข้าวจะแก่และเก็บเกี่ยวจากเหนือลงใต้ ดังนั้น ฝูงเป็ดจึงเดินทางหากินจากเหนือไล่ลงมาใต้พอดีกับระยะเวลาเก็บเกี่ยว อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือ เมื่อวิถีการทำนาเปลี่ยนแปลงจากปีละครั้ง เป็นแบบต่อเนื่องไม่มีฤดูกาล เกษตรกรผู้ปลูกข้าวมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูข้าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ ทำให้เป็ดตายเป็นจำนวนมาก และไม่มีสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารของเป็ดหลงเหลืออยู่ในนาข้าวอีกเลย จึงทำให้วิถีการประกอบอาชีพเลี้ยงเป็ดพเนจร หรือ เป็ดทุ่ง หมดไป
          ในปี พ.ศ. 2540 เศรษฐกิจของประเทศไทยตกต่ำ เกษตรกร ท้องทุ่งบางระจัน ดินแดนแห่งคนกล้า ได้หันมาเลี้ยงเป็ดเป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวเป็นจำนวนมาก โดยเป็ดที่เลี้ยงส่วนมากจะใช้รถอีแต๋นลากกระบะที่ทำเป็นกรงบรรทุกเป็ด นำไปปล่อยเลี้ยงในพื้นที่ใกล้ ๆ หมุนเวียนไปในท้องทุ่งบางระจัน เพราะการทำนาในท้องทุ่งบางระจันมีการทำแบบหมุนเวียนต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงทำให้มีที่สำหรับเลี้ยงเป็ดได้ตลอดปี

          ขณะที่เลี้ยงเป็ดในทุ่ง เกษตรกร สกล จีนเท่ห์ ก็ใช้ความสังเกตุจากประสบการณ์ที่ได้รับจากการเรียนรู้ในเรื่องของระบบนิเวศในโรงเรียนเกษตรกร ผนวกกับข้อจำกัดของการทำนาแบบล้มตอซังมาประยุกต์ ทดลองเอาเป็ดมาช่วยทำนา กล่าวคือ ภายหลังจากเกี่ยวข้าวแล้วก็ปล่อยเป็ดลงไปลุยในพื้นที่นา เพื่อเก็บหอยเชอรี่ เมล็ดข้าวเปลือก เมล็ดหญ้า และอื่น ๆ กิน ฟางที่อยู่ในนาก็จะถูกเป็ดย่ำจนเปื่อย มูลของเป็ดที่ถ่ายออกมาก็จะเป็นปุ๋ยให้แก่ต้นข้าวในนา หลังจากนั้นจึงเอาเป็ดออกจากแปลงนา และหว่านเมล็ดข้าวลงไปโดยไม่ต้องไถพรวนดิน โดยวิธีการปฏิบัติคล้ายกับข้าวล้มตอซัง จะแตกต่างตรงที่ไม่ต้องใช้ล้อยางล้มตอซัง แต่ใช้เป็ดแทน และต้องใช้เมล็ดข้าวงอก (หุ้ม) หว่าน ไม่ใช้ต้นแตกใหม่จากตอซัง เกษตรกร สกล จีนเท่ห์ ทดลองทำติดต่อกันมากกว่า 10 ฤดู จนมั่นใจว่าเป็นวิธีที่ดี และเหมาะสมที่สุดสำหรับท้องทุ่งบางระจัน และให้ ชื่อการทำนาวิธีนี้ว่า “ การทำนาเป็ด ” ซึ่งในปัจจุบันอำเภอบางระจัน หรือที่เรียกว่า “ บางรักชาติ ” มีพื้นที่นาเป็ดถึง 25,800 ไร่ และกำลังขยายเพิ่มอย่างต่อเนื่องในทุกฤดูกาล โดยมีวิธีการทำดังนี้

          1.    ก่อนการเก็บเกี่ยวข้าวประมาณ 15 วัน ให้ระบายน้ำออกจากแปลงให้แห้ง เพื่อที่รถลงไปเกี่ยวจะได้ไม่เป็นร่องหรือรอยรถ และสะดวกในการเก็บเกี่ยว ปัจจุบันรถเกี่ยวข้าวจะติดเครื่องตีฟางให้กระจายไปทั่วโดยไม่ต้องจ้างเกลี่ยฟางปล่อย ไว้ 1 – 2 วัน ก็ทำการจุดไฟเผาตอซัง เพื่อให้ตอเก่านั้นตาย ถ้าปล่อยไว้ตอเก่าจะแตกหน่อทำให้ข้าวออกรวงไม่พร้อมกัน และเมื่อหว่านข้าว เมล็ดจะตกไม่ถึงดิน 
         2.    หลังเผาตอซังเอาน้ำเข้าแปลงให้ทั่ว และให้เป็ดลงไปหาอาหาร เพื่อกำจัดหอยเชอรี่และศัตรูพืชประมาณ 2 – 3 วัน 
        3.    แช่เมล็ดพันธุ์ข้าว (หุ้ม)ไว้ 1 คืน แล้วนำไปหว่านในแปลงอัตรา 20 – 25 กก./ไร่ แล้วแช่เมล็ดพันธุ์ที่หว่านลงในแปลงไว้ 24 ชั่วโมง จึงระบายน้ำออก และให้ทำการตรวจแปลงตามที่ลุ่ม ๆ เพื่อระบายน้ำออกให้หมดทั่วทั้งแปลงนา 
          4.    หลังจากข้าวงอกแล้วประมาณ 8 – 9 วัน ก็เริ่มฉีดยาคุมวัชพืชเหมือนการทำนาน้ำตม 
          5.    การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 1 หลังจากหว่านข้าว 20 – 25 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 16 – 20 – 0 จำนวน 15 กก./ไร่ และสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 15 กก./ไร่ 
         6.    การใส่ปุ๋ยครั้งที่ 2 ข้าวอายุ 50 – 55 วัน ใส่ปุ๋ยสูตร 46 – 0 – 0 จำนวน 10 กก./ไร่ 
         7.    การเก็บเกี่ยวเมื่ออายุประมาณ 110 – 115 วัน 
         8.    ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 900 – 1,000 กก./ไร่ 

ประโยชน์ที่รับจากการทำนาเป็ด

1.    ลดต้นทุนการผลิต 
       - ค่าเตรียมดิน 350 บาท/ไร่ 
       - ค่าจ้างชักร่อง 50 บาท/ไร่ 
       - สารเคมีกำจัดหอยเชอรี่ 50 บาท/ไร่ รวม 450 บาท/ไร่ 
2.    รักษาสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะลดการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดหอยเชอรี่ ซึ่งทำลายสิ่งแวดล้อม   
       รุนแรง (เอ็นโดซัลแฟน) 
3.    ลำต้นข้าวแข็งแรง รวงใหญ่ ปริมาณเมล็ดมาก ให้ผลผลิตสูงกว่าการทำนา หว่านน้ำตม 
4.    ผลผลิตสูงขึ้น (ผลผลิตเฉลี่ย 900 – 1,000 กก./ไร่) ใช้เปลือกไข่ไล่เพลี้ยไฟเปลือกไข่สดมีแคลเซียม
       และกำมะถัน โดยใช้เปลือกไข่ครอบปลายหลักไม้ปักไว้ในแปลงเพาะปลูกพืช ซึ่งเปลือกไข่เมื่อถูก  
       แสงแดดจะทำให้กลิ่นกำมะถันระเหยออกมาไล่เพลี้ยไฟได้ดีฉี่วัวกำจัดแมลง นำฉี่วัวตากแดด
       ประมาณ 2 สัปดาห์จะไม่มีกลิ่น จำนวน 1 ลิตร ผสมน้ำ 2 - 3 ลิตร ผสมสาร จับใบ เช่น สบู่ 1-2 ช้อน  
       ฉีดพ่นพริก 3 วัน/ครั้ง จะป้องกันกำจัดแมลงหวี่ขาว เพลี้ยไฟ ไรขาว หนอนเจาะลำต้น หนอนกินใบ
       พริก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น